วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

กบฏผู้มีบุญ หรือกบฏผีบุญ

กบฏผู้มีบุญ 
กบฏผู้มีบุญ หรือ ผีบุญ หรือ ผู้วิเศษ เกิดขึ้นในมณฑลอีสาน ระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๔๔ จนถึงราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๕ (เปลี่ยนปี พ.ศ. เดือนเมษายน) การเกิดกบฏครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งในภาคอีสาน เพราะเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันตามท้องที่หลายแห่ง แม้แต่ในเขตท้องที่มณฑลอุดรและมณฑลนครราชสีมา และฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็มีผู้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษอยู่ในท้องที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน การเกิดกบฏครั้งนั้น ย่อมมีสาเหตุที่เกิดจากสภาพการณ์โดยทั่วไปของมณฑลอีสานและมณฑลใกล้เคียง ซึ่งอาจกล่าวอย่างกว้างๆได้ 
        
            สถานการณ์ทางการเมืองทางภาคอีสาน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๖ ซึ่งเป็นปีที่ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้ฐานะความเป็นใหญ่ทางการเมืองของรัฐบาลไทยที่เคยมีอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำโขงลดน้อยลง ฝรั่งเศสกลายเป็นมหาอำนาจที่น่าเกรงขามขึ้นมาแทนที่รัฐบาลไทย
            เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองอยู่ในสภาพที่ไม่แน่นอนบุคคลบางคนจึงฉวยโอกาสที่จะก่อการจลาจล และฝ่ายฝรั่งเศสได้ทีที่จะกระทำการให้เกิดการปั่นป่วนในประเทศไทยมากขึ้น เป็นต้นว่า ท้าวติด ท้าวฮู กรมการเมืองขุขันธ์ ประจำอยู่ที่ด่านพระประสพแข็งข้อไม่ฟังบังคับบัญชาเมืองขุขันธ์ อ้างว่าที่ลุ่มเขานั้นเป็นแดนฝรั่งเศส ภายหลังท้าวติด ท้าวฮูยกกำลังเข้าปล้นเมืองมโนไพรได้ และยังมีท้าวบุญจัน น้องชายพระยาขุขันธ์ ท้าวทันบุตรพระยาขุขันธ์ ซึ่งไม่ได้รับตำแหน่งทางการปกครอง จึงได้หนีไปตั้งตัวเป็นหัวหน้าพวกผีบุญทางเมืองขุขันธ์ นอกจากนั้นยังมีบุคคลอีกหลายพวกไปตั้งตนอยู่ทางฝั่งซ้ายในดินแดนอารักขาของฝรั่งเศส เช่น กลุ่มของอ้ายไชยะแสงหอบไปอาศัยอยู่บ้านดอนรา บ้านท่าเดื่อ บ้านส้มโรงและบ้านนาคุ และอีกกลุ่มหนึ่ง มีอ้ายมั่นเป็นหัวหน้า ตั้งอยู่ที่บ้านปาง ต่อมาอ้ายมั่นได้ข้ามมาก่อการจลาจลทางฝั่งขวา ได้ตั้งตนเป็นองค์ปราสาททอง (หรือองค์หาสารททอง) คือหัวหน้าคนหนึ่งของพวกผีบุญ ต่อมาได้ยกเข้าปล้นและเผาเมืองเขมราฐในเขตจังหวัดอุบลราชธานี
            สวนความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใน ตั้งแต่รัฐบาลได้แต่งตั้งพระยาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงประจำที่เมืองนครจำปาศักดิ์ (พ.ศ.๒๔๒๕) รัฐบาลได้เพิ่มการควบคุมตรวจตราหัวเมืองทางภาคอีสานให้กระชับยิ่งขึ้นกว่าที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ต่อมาสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลอีสานโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งอาชญาสี่ หรืออาญาสี่ คือ ตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร แล้วตั้งตำแหน่งใหม่แทน คือผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมืองและผู้ช่วยราชการเมือง แต่ในการนี้กรมการของเมืองที่ไม่ได้รับแต่งตั้งก็แสดงความไม่พอใจ เช่น ที่เมืองโขงเจียม ท้าวสนเจ้าเมือง ท้าวแสงอุปฮาด ท้าวเพชรและท้าววรบุตร ได้หนีไปตั้งตนเป็นผู้มีบุญอยู่บ้านนาพระบาง แขวงเมืองละครเพ็ง โดยอาศัยดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศสเป็นที่หลบภัยอันตรายจากฝ่ายไทย ซึ่งฝ่ายไทยเข้าใจว่าฝายฝรั่งเศสคงจะรู้เห็นเป็นใจสนับสนุนเช่นเดียวกับกรณีท้าวติด ท้าวฮู ทางเมืองขุขันธ์ เมื่อสาเหตุจากสภาพการณ์ทางการเมืองโดยทั่วไปเป็นเช่นนี้ จึงมีบางท่านในขณะนั้น เช่น พระญาณรักขิต เจ้าคณะมณฑลอีสานกล่าวว่า อำนาจของจ้าราชการตามหัวเมืองเสื่อมไม่พอแก่ราชการ

แผนการของพวกกบฏ
            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับการเริ่มแผนการของผู้มีบุญว่า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๒ เดิมมาเป็นหมอลำ เที่ยวลำคำผญาเป็นข้อความกล่าวถึงผู้มีบุญว่าจะมาจากทิศตะวันออก เจ้าเก่าหมดอำนาจ ศาสนาก็สิ้นแล้วและหมอลำนั้นก็ลือซุบซิบไปต่างๆ เป็นต้นว่า บัดนี้ฝรั่ง (หมายถึงฝรั่งเศสและอังกฤษ) เข้าไปเต็มกรุงเทพฯ แล้ว กรุงจะเสียแก่ฝรั่งแล้ว หมอลำเหล่านี้เริ่มต้นมาจากทางตะวันออก ตั้งแต่เมืองสีทันดร นครจำปาศักดิ์ พิบูลมังสาหารและเดชอุดม โดยแยกเป็นสายๆ คือ
            สายที่ ๑ ไปทางเดชอุดมและขุขันธ์
            สายที่ ๒ ไปทางศรีสะเกษและสุรินทร์
            สายที่ ๓ ไปทางเขมราฐ อำนาจเจริญ เกษมสีมา และอุบลราชธานี
            สายที่ ๔ มาจากทางเหนือลงมาบ้านผาลีตอน กันทรวิชัย หนองเลา วาปีปทุม หนองซำ พยัคฆภูมิพิสัย กาฬสินธุ์ และเสลภูมิ
            พวกหมอลำได้กระจายไปตามท้องที่ต่างๆ ทั่วมณฑลอีสาน ข้อความที่ลำนั้นเป็นการสรรเสริญผู้มีบุญว่าจะมาจากทิศตะวันออก ซึ่งหมายถึงองค์แก้ว ราชบุตรเมืองสาลวัน มีบรรดาศักดิ์เป็น พระภักดีอาษา พระภักดีอาษาไม่พอใจการปกครองของฝรั่งเศสที่ปกครองลาว จึงได้ออกไปเกลี้ยกล่อมพวกข่าเข้าเป็นสมัครพรรคพวกตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๖ ผู้ตั้งตัวเป็นผู้มีบุญอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และในขณะเดียวกันก็กล่าวร้ายต่อคนไทย เป็นต้นว่า “ลือแซะแซงแซ่ลำโขงหนองซำเป็นเขตราชสีมา ฝูงไทยใจฮ้าย ตายสิ้นบ่อหลอ” หมายความว่า ข่าวลือทั่วลำน้ำโขงจนถึงหนองซำ เมื่อผู้มีบุญมาเกิดแล้ว ชาวไทยที่อยู่ในแถบนี้จะถึงแก่ความตายด้วยอำนาจอิทธิฤทธิ์ของผู้มีบุญ เนื่องจากหมอลำใช้คำกลอนพื้นเมืองของภาคอีสานที่มีประชาชนชอบฟังอยู่แล้ว จึงเกิดความเลื่อมใสและหลงเชื่อในอุบายของผู้มีบุญ เมื่อราษฎรเชื่อมากๆ เข้าพวกหมอลำก็ตั้งตนเป็น “องค์” มีชื่อต่างๆ และตั้งคนที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นเป็นองค์ เพื่อให้ช่วยออกอุบายชักจูงให้ประชาชนเชื่อต่อๆ กันไป พวกที่ตั้งเป็นองค์เป็นชั้นระดับหัวหน้า แต่งกายผิดแผกไปจากคนอื่นๆ คือ “นุ่งห่มผ้าขาวจีบ ห่อมครองอย่างพระหรือสามเณร แล้วมีเทียนขึ้ผึ้งหนัก ๑ บาท ถือว่าเป็นเทียน ขัน ๕ ขัน ๘ เป็นของสำหรับไหว้ครูอาจารย์ของพวกผีบุญ” นับว่าพวกผีบุญมีความเฉลียวฉลาดรู้ถึงพื้นฐานความเชือ่ของประชาชน จึงใช้หลักจิตวิทยา โดยเลียนแบบเครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุมาเป็นแบบของตน ทำให้ราษฎรมีความเชื่อในแนวทางของพวกผีบุญหรือผู้มีบุญยิ่งขึ้น
            ในขั้นแรกพวกผีบุญได้โฆษณาเรียกร้อง และชักชวนให้ประชาชนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกอยู่ปีเศษ โดยที่ไม่ได้รับการต่อต้านจากฝ่ายรัฐบาล เพราะพวกผีบุญใช้ทำเลที่ใกล้ดงใกล้เขาในที่ห่างๆ ผู้คนหรือที่คนจะไปยาก แล้วเสาะหาเกลี้ยกล่อมและชักชวนเอาคนให้เข้าเป็นพวกให้ได้มากที่สุด
            ต่อมา พวกผีบุญจึงออกลายแทงเป็นคำพยากรณ์ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับคือ หนังสือพระยาอินทร์” “หนังสือท้าวพระยาธรรมมิกราช” “หนังสือผู้มีบุญ” และ “ตำนานพื้นเมืองกรุง” เป็นต้น นับว่าพวกผีบุญมีความฉลาดถือเอาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเป็นข้ออ้างแล้วโฆษณาตัวเอง เช่น หนังสือพระยาอินทร์ เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ กล่าวถึงพุทธตำนาน ตักเตือน “ให้ประชาชนรีบทำบุญรักษาศีลเมตตาภาวนา ให้เคารพยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่กว่าตน” “ให้คัดลอกหนังสือนี้ไว้ในเรือนในบ้าน” ให้เล่ากันสืบๆ ไปว่าเมื่อถึงเดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ เจ้าตนบุญใหม่จักเกิดมา ขอให้คนทั้งหลายรีบกระทำบุญ จะเห็นได้ว่าผึบุญอ้างพระอินทร์เป็นเจ้าสูงสุดเพื่อให้ราษฏรทำบุญรักษาศีล ตั้งอยู่ในความสงบเพื่อรอ เจ้าผู้มีบุญองค์ใหม่ คือพวกผีบุญนั่นเอง ในตอนท้ายของหนังสือนี้เป็นการกล่าวร้ายต่อข้าราชการและคนไทยว่า...
            “...ในปีสะง้า (ปีมะเมีย) อันหน้านี้...ยักษ์ ๗๐๐ ตัว ก็จักออกมากินยังเนื้อท้าวพระยา เสนาอำมาตย์ แลไพร่ไทยชาวบ้านชาวเมือง แลคนทั้งหลายอันหาสัตย์จะหาศีลไม่ได้ แลลักเอาเข้าของท่านแลลวงท่านเอาเข้าของแห่งท่านอันเจ้าของเพื่อนบ่ได้ให้อนุญาตให้แห่งตน...”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น