วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

บททาทจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ 
การเมืองการปกครองและแนวความคิดเกี่ยวกับระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ 
สภาพการณ์ทางการเมืองไทย ก่อน พ.ศ.2500
ภายหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 อำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนจากฝ่ายเจ้าไปสู่คนกลุ่มใหม่
ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหารและพลเรือน ซึ่งเรียกตนเองว่า คณะราษฎร เป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบบประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองในระยะนั้นได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม(นายปรีดี พนมยงศ์) และจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ซึ่งในระยะแรกได้มีความสัมพันธ์และความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการโค่นล้มระบบเก่า  แต่ภายหลังได้เกิดความขัดแย้งในแนวความคิดในประเด็นสำคัญคือ
ฝ่ายนายปรีดีนั้นเชื่อมั่นอยู่ในแนวความคิดที่ว่า การปกครองต้องตั้งอยู่บนรากฐานแห่งกฎหมาย
ส่วนจอมพล ป. พิบูลสงครามมีความเลื่อมใสในขบวนการฟาสซิสต์แบบเยอรมันอิตาลี และญี่ปุ่น ความแตกแยกอันนี้เริ่มชัดเจนและรุนแรงขึ้นในตอนปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยอมให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศทยเป็นทางผ่านในขณะที่นายปรีดี หันไปร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีสหรัฐอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้นำภายหลังสงครามโลก กลุ่มทหารบกของจอมพลป.ต้องลงจากอำนาจตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศส
โดยกลุ่มพลเรือนที่มีนายปรีดีได้เข้าทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ 
ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้มีการปลดทหารออกเป็นจำนวนมาก ปัญหาการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะทหารเมื่อปี2490 และอีก 4 ปี หลังจากนั้น กลุ่มรัฐประหาร 2490
ก็สามารถทำลายอิทธิพลของกลุ่มพลเรือน ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกเสรีไทยและบรรดานายทหารในกองทัพเรือบางส่วนที่สนับสนุนนายปรีดี
ผู้นำในกลุ่มรัฐประหาร 2490 นี้แตกต่างไปจากผู้นำ 2475 คือ พวกเขาส่วนมากเป็นนายทหารบกและเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ
ดังนั้นความรู้ความเขัาใจต่อระบบการเมืองของผู้นำกลุ่มนี้  จึงเกิดขึ้นจากประสบการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทั้งสิ้น
จึงไม่มีความเชื่อมั่นหรือซึมซาบต่อระบอบประชาธิปไตยตะวันตกแบบผู้นำรุ่น 2475 นี่เป็นจุดเริ่มต้นในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบพ่อขุนของจอมพลสฤษดิ์ในเวลาต่อมา
ดังนั้นเมื่อถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  ความหมายของประชาธิปไตยจึงถูกจำกัดลงเหลือเพียง
ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เท่านั้น
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งที่
2 ของจอมพลสฤษดิ์ แต่นับเป็นการรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เพราะมีผลทำให้การเมืองการปกครองไทยต้องเข้าสู่รูปแบบของเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเป็นเวลานานถึง 15 ปี และทำให้ทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารบก มีบทบาทอย่างสูงต่อการเมืองการปกครองของไทยในระยะเวลาต่อมา 
สาเหตุของการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501
สาเหตุสำคัญที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารในครั้งนี้
พอจะสรุปได้ 4 ประการ คือ
1.ความไม่พอใจต่อระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยตะวันตก
โดยอ้างว่าไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะการรัฐประหารครั้งก่อน
ที่ทำในวันที่ 16 กันยายน 2500 นั้น ไม่ได้มีการแก้ไขรูปแบบการปกครองบ้านเมืองใหม่
คงปล่อยให้ดำเนินการตามแบบเดิม คือ ยังคงมีรัฐสภา
มีพรรคการเมือง ให้เสรีภาพภาพหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เต็มที่ มีสหพันธ์และสหบาลกรรมกรที่ชอบหยุดงานเมื่อไม่พอใจนายจ้าง
ที่ร้ายที่สุดก็คือ ผู้แทนราษฎรทั้งหลายพยายามแก่งแย่งชิงกันเป็นรัฐมนตรีและข้าราชการการเมือง
โดยขู่รัฐบาลว่า ถ้าไม่แต่งตั้งแล้วก็จะถอนตัวออกจากการสนับสนุนรัฐบาล และพากันไปตั้งพรรคฝ่ายค้านขึ้นใหม่
ในที่สุดมีความเห็นพ้องกันว่า จะต้องใช้วิธีปฏิวัติหรือผ่าตัดขนาดใหญ่ จึงจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติขณะนั้นได้
 2. ฐานะการคลังของรัฐบาล รัฐบาลพล.ท.ถนอม ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางด้านการคลัง งบประมาณปี 2500 ขาดดุลย์กว่า 2,000 ล้านบาท ฐานะทางการเงินการคลังของประเทศทรุดลงอย่างหนัก
รัฐบาลเป็นหนี้ธนาคารแห่งชาติ ถึง 1,507 ล้านบาท ทางออกของรัฐบาลก็คือขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาเพื่อสนับสนุนโครงการด้านเศรษฐกิจทั้งหมดใน
พ.ศ. 2501 - 2502 เป็นเงิน 58.9 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว1,200 ล้านบาท
3. ภัยคอมมิวนิสต์
จอมพลสฤษดิ์มองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
การอ้างการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามนักการเมืองตลอดจนปัญญาชนที่เป็นฝ่ายตรงข้าม
โดยจอมพลสฤษดิ์ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า " คอมมิวนิสต์ได้โหมปฏิบัติการอย่างกว้างขวางเพื่อแทรกซึมเข้าไปในวงการต่ง
ๆ เพื่อล้มล้างสถาบันอันศักสิทธิ์ของชาติเราคือ ชาติ
ศาสนา และพระมหากษัตริย์
อย่างน่าห่วงใยและผู้แทนราษฎรหลายคนได้ยอมขายตนเป็นเครื่องมือของลัทธินี้อย่างเปิดเผย…"
ขณะเดียวกันนั้น สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศได้แบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ
ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซียและฝ่ายโลกเสรีนิยมที่นำโดยอเมริกา
มีการทำสงครามเย็นกันอย่างกว้างขวางทั่วไป
4. สภาพการณ์โดยทั่วไปของสังคมไทย เช่น การอพยพเข้าสู่เมืองหลวงของชาวชนบทจากภาคอีสานอันเนื่องมาจากภาวะฝนแล้งอย่างหนัก
โดยที่รัฐบาลจอมพล ป. ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ผู้ที่อพยพเข้าสู่เมืองได้มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสังคม
เช่น ปัญหายาเสพติด  อาชญากรรม 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชายจากชนบทส่วนมากเข้าเมืองและประกอบอาชีพถีบสามล้อ  ซึ่งจอมพลสฤษดิ์มองว่าทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาวะเศรษฐกิจ 
เนื่องจากไม่ทำให้เกิดผลผลิตและสร้างความเสื่อมโทรม ไม่เป็นระเบียบ
โดยกล่าวว่า "…ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า 
ชายฉกรรจ์ชาวหัวเมืองในชนบทของเราเป็นจำนวนหมื่นจะละทิ้งงานผลิต
คือ เกษตรกรรม มาทำงานที่ไม่ผลิต เช่น การขับขี่สามล้อนั้น
เป็นการเสื่อมเสียทางเศรษฐกิจ กระทรวงมหาดไทยพบว่า ผู้ประกอบอาชีพทางถีบสามล้อนั้นลงท้ายกลายเป็นคนติดฝิ่นไปเป็นจำนวนไม่น้อย…"
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจแล้ว ก็ให้ยกเลิกอาชีพสามล้อ
และให้ผู้ประกอบอาชีพนี้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมหรือจัดสรรที่ดินทำกินให้ในรูปของนิคมประชาสงเคราะห์
ภายหลังการทำรัฐประหารแล้วจอมพลสฤษดิ์
ก็ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในนามของหัวหน้าคณะปฏิวัติและนายกรัฐมนตรี
และได้อาศัยอำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 17
จัดการกับปัญหาต่าง ๆ
ตลอดจนทำการกวาดล้างผู้ที่จอมพลสฤษดิ์เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือเป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง  ตลอดจนปัญญาชน นักคิด นักเขียน
เป็นจำนวนมาก 
ภายใต้แนวความคิดเรื่องความเด็ดขาดต่อผู้กระทำความผิดนี้ ได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความสะพรึงกลัวแก่ประชาชนทั่วไป
และในหลายกรณีได้มีผู้ซึ่งกลายเป็นเหยื่อทางการเมือง หรือนัยหนึ่งแพะรับบาป ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากจะเป็นบรรดาคนจีน 
อุดมการณ์ทางการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ
จอมพลสฤษดิ์นั้นเป็นบุคคลที่เป็นผลผลิตภายใน
คือไม่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ
ดังนั้นแนวความคิดประชาธิปไตยและลัทธิเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกปลูกฝังอยู่ในจิตใจของจอมพลสฤษดิ์เท่ากับผู้นำรุ่นก่อนประกอบกับอาชีพทหารและวิถีชีวิตของทหารนั้นเน้นหนักไปในทางการใช้อำนาจมาแก้ไขปัญความขัดแข้งทางการเมือง
ความล้มเหลวของคณะผู้ก่อการ 2475 ในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ได้นำไปสู่ข้อสรุปในความเชื่อของจอมพลสฤษดิ์ว่า  การเมืองไทยจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเมืองไทย
และความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมแบบไทย  มิใช่แบบตะวันตก  ดังคำแถลงทางวิทยุ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม
2508 ว่าคณะปฏิวัติ
มีความมุ่งหมายที่จะทำประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย และสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยให้เป็นผลสำเร็จ  โดยจะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต จึงทำการปฏิวัติเมื่อ 20 ตุลาคม
2501 ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยที่นำมาจากต่างประเทศทั้งดุ้นเสียและเสนอว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมะสมกับลักษณะพิเศษและสภาวการณ์ของไทย จะสร้างประชาธิปไตยของไทย ประชาธิปไตยแบบไทยและมีเอกสารย้ำว่าหลักการประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นหลัง
พ.ศ. 2475 เป็นสิ่งที่ได้หยิบยืมมาจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส  และถึงแม้ว่าในกาลต่อมาจะได้มีการปรับปรุง  แต่ก็ได้ทำไปภายในขอบเขตของประชาธิปไตยแบบตะวันตก ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายจึงจะถือไม่ได้ว่าเป็นการทำปฏิวัติ
โฆษกของคณะปฏิวัติได้พูดออกอากาศในรายการวิทยุสองศูนย์ โดยเปรียบเทียบว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยเป็นเสมือนกัลปพฤกษ์ที่หยั่งรากลึกจากแผ่นดินไทย
งอกงามเติบใหญ่ในแสงแดดและแรงฝน ออกผลเป็นกล้วยน้ำว้า มะม่วง เงาะ มังคุด
และทุเรียน มากกว่าที่จะเป็นแอปเปิ้ล องุ่น อินทผลัม บ๊วย หรือเกาลัด
รูปแบบของการปกครองประชาธิปไตยแบบไทยเป็นแนวความคิดและความเข้าใจของจอมพลสฤษดิ์ที่คิดว่าเป็นระบบการเมืองที่ถูกต้อง
และ โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้มีส่วนอยู่มากในงานเขียนต่างๆหลังสงครามโลกครั้งที่
2 ที่เป็นเรื่องของการแสวงหารูปแบบของการปกครองในสมัยโบราณ ที่อาจนำมาใช้ได้กับการพัฒนาประเทศ
ผสมเข้ากับพื้นฐานการศึกษาภายในประเทศและประสบการณ์ทางการเมืองในฐานะนายทหารผู้คลุกคลีอยู่กับการใช้กำลังทำให้เกิดเป็นความคิดความเข้าใจทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์
ที่มองว่าประชาธิปไตยแบบไทยควรที่จะเป็นไปในรูปที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติหรือเหนือกว่าสภาผู้แทน  และมองว่าระบบพรรคการเมืองนั้นไม่เหมาะสมกับสังคมไทย  ดังนั้นพรรคการเมือง
และการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงจึงมิใช่สิ่งที่มีความจำเป็นต่อระบบการเมืองไทย
และมีความเห็นว่าแม้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒จะมีแค่๒๐มาตราก็เป็นการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย
เพียงแต่ว่า ไม่มีผู้แทนที่เลือกตั้งโดยตรงมาจากราษฎร แต่จอมพลสฤษดิ์กล้ารับรองว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของเขาจะรักษาผลประโยชน์ของราษฎร
มีความหวังดีต่อราษฎร และมีเจตนาที่จะสร้างสรรค์พัฒนาประเทศชาติไม่น้อยกว่าสมาชิกสภาในสมัยใดๆ และยังทำงานกันด้วยความสุจริตใจ ด้วยวิชาความรู้
ด้วยดุลพินิจอันเที่ยงธรรม โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลบีบบังคับ
ไม่ต้องห่วงใยในการที่จะแสดงตนเป็นวีรบุรุษ เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงแก่การเลือกตั้งคราวหน้า
พวกผู้แทนเป็นพวกไร้สมรรถภาพ ไม่มีวินัย และพวกนักหนังสือพิมพ์ก็มักจะยึดผลประโยชน์ของตัวเองโดยใช้วิธีการและเล่ห์กลที่สกปรกและการขายตัว
จนไม่สามารถที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง
มีแต่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย 
ไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดยสรุปก็คือ ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองนั้นไม่เหมาะสมกับประเทศไทย
เพราะจะทำให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีและนำไปสู่ความวุ่นวายไร้ระเบียบ และทางออกของปัญหานี้ก็คือ
ควรต้องให้อำนาจกับรัฐบาลมากขึ้น คือ
รัฐบาลเป็นสถาบันที่จะกำหนดว่า อะไรคือเจตนารมณ์ของชาวไทยทั้งประเทศโดยมีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง
จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า การปกครองเป็นเรื่องของกษัตริย์
ของเจ้านายผู้มีบุญวาสนา
ขอเพียงแต่ให้ผู้นำนั้นมีความเที่ยงธรรมและสุจริตใจตั้งอยู่ในศีลธรรม
(เช่นเดียวกับหลักธรรมในการปกครองแบบโบราณสำหรับกษัตริย์ คือ ทศพิธราชธรรม) แนวความคิดเหล่านี้  ในทางปฏิบัติแล้วจอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ผู้นำคือนายกรัฐมนตรี ต้องมีอำนาจที่เด็ดขาด โดยอำนาจนั้นตั้งอยู่บนหลักของความเป็นธรรม
ซึ่งในสังคมไทยคือ หน้าที่ของพ่อที่ต้องปกครองบุตรให้ได้รับความสุข
ในขณะเดียวกันก็ใช้อำนาจเด็ดขาดหากบุตรคนใดไม่เคารพเชื่อฟัง    การลงโทษนั้นก็เพื่อทำให้บุตรเป็นคนดีต่อไป
การให้เหตุผลในการวางหลักการปกครองแบบไทยเช่นนี้ คือการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีดั้งเดิมของสังคมไทย
ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ เชื่อมั่นว่าเป็นการประยุกต์แนวความคิดประชาธิปไตยเข้ากับจารีตและวัฒนธรรมไทย และ "พ่อ" ของคนไทยทุกคน  หรือนัยหนึ่งพ่อของครอบครัวที่ใหญ่ที่สุด คือชาติ ก็คือ พ่อขุน ผู้ปกครองด้วยความเป็นธรรมและเปี่ยมไปด้วยความเมตตาในขณะเดียวกันเป็นผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดต่อผู้อยู่ใต้ปกครองได้  อย่างที่จอมพลสฤษดิ์ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมกำนัน
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2503 ว่าประเพณีการปกครองของไทยแต่โบราณมาได้ถือระบอบพ่อปกครองลูก โดยเรียกพระมหากษัตริย์ว่าพ่อขุนหมายความว่า เป็นพ่อที่สูงสุด ต่อมาก็มี พ่อเมือง
คือผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อไปถึง พ่อบ้าน คือกำนันผู้ใหญ่บ้าน
ในที่สุดก็ถึงพ่อเรือน คือหัวหน้าครอบครัว แม้จะได้มีระบบการปกครองเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น
ไม่เรียกว่าพ่อเหมือนแต่ก่อน แต่จอมพลสฤษดิ์ยังยึดมั่นนับถือคติและประเพณีโบราณของไทยเราในเรื่องพ่อปกครองลกเสมอ
โดยพูดบ่อย ๆ ว่า ชาติเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่
ผู้ปกครองไม่ใช่อื่นไกล คือหัวหน้าครอบครัวใหญ่นั่นเอง
ต้องถือว่าราษฎรทุกคนเป็นลูกเป็นหลาน ต้องมีความอารีไมตรีจิต
เอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎร เท่ากับบุตรหลานในครอบครัวของตนเอง ต้องพยายามไปถึงที่
ดูแลอำนวยการบำบัดทุกข์ภัยด้วยตนเอง
พยายามเข้าถึงราษฎรและเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎร เหมือนหนึ่งว่าเป็นครอบครัวของตนเองเสมอ
สรุปแนวความคิดทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ที่เน้นหัวใจสำคัญของการปกครองบ้านเมืองขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครองหรือพ่อขุนซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของที่อยู่ใต้ปกครอง
ข้าราชการและประชาชนมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและรับเอาความอนุเคราะห์สงเคราะห์จากฝ่ายรัฐบาล
องค์ประกอบที่สำคัญคือ ระบบราชการหรือข้าราชการ
ซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวแทนและปฏิบัติตามคำบัญชาของผู้ปกครอง
และต้องยอมรับการชี้แนวทางการปฏิบัติหรือนโยบายจากรัฐบาล โดยเฉพาะจากผู้นำของประเทศ
ดังนั้น ตามหลักของการปกครองแบบนี้ ข้าราชการจึงไม่ได้มีความหมายถึงผู้รับใช้หรือบริการประชาชน
แต่เป็นข้ารัฐบาลหรือผู้รับใช้รัฐบาล
องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดภายใต้ระบบการเมืองแบบนี้ก็คือ รัฐบาล และข้าราชการ
ส่วนประชาชนนั้น ไม่มีบทบาททางการเมือง หรือมีบทบาททางการเมืองอย่างจำกัด
ภายใต้การควบคุมและยินยอมจากรัฐเท่านั้น  ในฐานะพ่อขุน 
จอมพลสฤษดิ์ได้สร้างกิจกรรมในเรื่องการเป็นพ่อบ้านหรือผู้ปกครองหลายประการด้วยกัน
เช่น การช่วยเหลือประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม
การเยี่ยมเยียนราษฎร และการออกคำสั่ง 
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนช่วยเหลือประชาชน
เพื่อเป็นการแสดงถึงความมีเมตตากรุณาต่อประชาชนผู้เปรียบเสมือนลูก ๆ   ในทันทีที่มีการปฏิวัติเพียงไม่กี่วัน
คณะปฏิวัติได้มีคำสั่งให้ลดค่ากระแสไฟฟ้าและออกพระราชกฤษฎีกาให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ  30
ปี๊บ ตลอดจนลดค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน
เป็นต้น จอมพลสฤษดิ์ได้สั่งให้กองทัพเรือทำการจัดหามะพร้าวราคาถูกและนำมาขายให้ประชาชนในราคาต้นทุน  ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อพ่อขุนคนใหม่
เป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว 
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนรักษาความสงบเรียบร้อย
หลังการรัฐประหาร 2501 
จอมพลสฤษดิ์ได้มีคำสั่งให้จัดการกับอันธพาลอย่างเฉียบขาดเพื่อส่งเสริมความผาสุกของประชาชน
เนื่องจากอันธพาลเป็นการบ่อนทำลายสังคม
ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ 
ความสงบเรียบร้อยยังรวมถึงการปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตก
เช่น เพลง ร้อก การเต้นทวิสต์ ซึ่งได้รับความนิยมในสมัยนั้น กวดขันแหล่งอบายมุขและสถานเริงรมย์ต่าง
ๆ โสเภณีก็อยู่ในข่ายนี้ด้วย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์มองว่าเป็นตัวส่งเสริมอาชญากรรมจึงออกกฎหมายห้ามการค้าประเวณีและให้ยกเลิกอาชีพสามล้อในเขตกรุงเทพมหานคร
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การจัดการเรื่องเพลิงไหม้อย่างเด็ดขาด
ด้วยการยิงเป้าผู้ที่ต้องสงสัยหรือจับได้ว่าเป็นผู้วางเพลิง
ณ บริเวณเกิดเหตุนั้นเอง ซึ่งได้สร้างความเกรงกลัวแก่ประชาชนทั่วไป
เมื่อปรากฏว่ามีเพลิงไหม้ ณ ที่ใด
จอมพลสฤษดิ์มักจะไปอำนวยการดับเพลิงด้วยตนเองเสมอ 
การทำเช่นนี้ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นจอมพลสฤษดิ์มากยิ่งขึ้น 
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม
โดยการการกวดขันและปราบปรามการค้ายาเสพติด
ได้แก่ฝิ่นและเฮโรอีน โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2502
เป็นต้นไป ให้ถือว่าการเสพฝิ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและโรงยาฝิ่นก็ถูกปิดอย่างถาวร และได้จัดตั้งศูนย์บำบัดรักษาเพื่อช่วยให้เลิกติดยาเสพติด จอมพลสฤษดิ์ ในฐานะพ่อขุนเยี่ยมเยียนครอบครัว  จอมพลสฤษดิ์ได้พยายามออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนถามทุกข์สุขของประชาชนในภาคต่างๆ เน้นความสามัคคีและการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง มีการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งพูดถึงแผนพัฒนาส่วนภูมิภาคด้วย โดยจอมพลสฤษดิ์เองร่วมเป็นกรรมการพัฒนาภาคอีสาน ในการไปตรวจราชการตามภาคต่าง ๆนั้น จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ความสนใจกับปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนโดยการเดินทางด้วยรถยนต์และไปตั้งแค้มป์พักกลางทาง ทุก ๆแห่งที่ผ่านไปจะให้ความสนใจกับสภาพตลาดของแต่ละชุมชน จอมพลสฤษดิ์ได้สรุปถึงปัญหาของประชาชนในเวลานันว่าขึ้นอยู่กับน้ำและถนนและในเวลานั้นจอมพลสฤษดิ์ตระหนักดีว่าภาคอีสานและภาคใต้กำลังเป็นส่วนที่มีปัญหาทงการเมืองมากที่สุดโดยเฉพาะภาคอีสานปรากฏมีขบวนการต่อต้านอำนาจทางการเมืองของกรุงเทพฯ อยู่เสมอ  ในขณะที่ในภาคใต้มีเรื่องราวเกี่ยวกับความไม่สงบเรียบร้อยบ่อยครั้ง
โดยเฉพาะในบริเวณ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จอมพลสฤษดิ์ได้แสดงความห่วงใยประชาชนในทุกภาคและต้องการที่จะเห็นสภาพความเป็นอยู่ตามที่เป็นจริงด้วยตาของตนเองโดยเป็นผู้นำคนแรกที่ออกตรวจราชการโดยทางบกบ่อยครั้งที่สุด 
จอมพลสฤษดิ์ในฐานะพ่อขุนใช้อำนาจเด็ดขาด
การปกครองแบบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์มีลักษณะเด่น ๆ  คือ เป็นแบบพ่อปกครองลูกที่ผู้ปกครองมีอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและการกำจัดพวกที่ไม่เห็นด้วยอย่างเฉียบขาดในสมัยจอมพลสฤษดิ์ การใช้อำนาจแบบเด็ดขาดเพื่อจำกัดพวกนอกรีตนอกรอย  เป็นสิ่งที่พบเห็นได้อยู่เสมอ เช่นการลงโทษประหารชีวิตชาวจีนผู้ลอบวางเพลิง และกำจัดผู้กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์  ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 22ตุลาคม 2501 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สอบสวน ที่จะกักขังผู้ต้องหาไว้ตลอดระยะเวลาสอบสวน
ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่15 กำหนดให้คดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องโอนไปขึ้นศาลทหารตามกฎอัยการศึก  ปัญญาชน นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองจำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤษดิ์ตลอดจนประวัติศาสตร์และสังคมไทยได้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ในอีกด้านหนึ่งของระบบพ่อขุนนอกเหนือจากที่มีการดูแลทุกข์สุขของราษฎรแล้วก็ยังมีลักษณะของเผด็จการที่โหดเหี้ยมอยู่ด้วย  ซึ่งได้สร้างพลังกดดันให้แก่สังคมไทยอย่างมาก
และในที่สุดก็ปะทุขึ้นมา  เมื่อวันที่14  ตุลาคม  2516

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น