วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

องค์การบริหารส่วนตำบล

 องค์การบริหารส่วนตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต. มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นระบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ฉบับที่  5  พ.ศ. 2546  กำหนดให้การบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วย  สภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
โครงสร้างของการจัดองค์การบริหารส่วนตำบล
 องค์การบริหารส่วนตำบลแบ่งโครงสร้างออกเป็น  2  ฝ่าย  คือ
 1.  สภาองค์การบริหารส่วนตำบล  ( ฝ่ายนิติบัญญัติ ) ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น หมู่บ้านละ
2  คน  ( ในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมี  1  หมู่บ้าน ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน  6  คน  ในกรณีที่เขตองค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเพียง  2  หมู่บ้านให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล  จำนวนหมู่บ้านละ  3  คน )
หน้าที่ของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตำบล เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล พิจารณาและให้ความเห็นชอบข้อบังคับของตำบล ควบคุมการบริหารงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
2. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล  ( ฝ่ายบริหาร )  มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ  4  ปี  และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน  2  วาระไม่ได้   นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจแต่งตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ช่วยในการบริหารราชการได้ไม่เกิน  2  คน  และคงแต่งตั้งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล  1  คน  ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม่อาจปฎิบัติหน้าที่ได้ ให้รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้รักษาราชการแทน
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล 
องค์การบริหารส่วนจังหวัด
องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีจังหวัดละหนึ่งแห่ง ยกเว้นกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการสาธารณประโยชน์ในเขตจังหวัด ตลอดทั้งช่วยเหลือพัฒนางานของเทศบาลและ อบต. รวมทั้งการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน
              พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 บัญญัติไว้ว่า ในจังหวัดหนึ่งให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการส่วนท้องถิ่น เขตขององค์การบริหารส่วนจังหวัดคือเขตจังหวัด การจัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตจังหวัด และมีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สภาจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตจังหวัด ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ให้ถือเอาจำนวนราษฎรในแต่ละจังหวัดตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ ดังนี้ 
1.   จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 24 คน 
2.  จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรเกินกว่า 500,000 คน แต่ไม่ถึง 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 30 คน 
3. จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรเกินกว่า 1,000,000 คน แต่ไม่ถึง 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 36 คน 
4. จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรเกินกว่า 1,500,000 คน แต่ไม่ถึง 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 42 คน 
5. จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรเกินกว่า 2,000,000 คน ขึ้นไป ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 48 คน 
ในวันเริ่มสมัยประชุมประจำปีของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลือกประธานสภา 1 คน และรองประธานสภาจำนวน 2 คน และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ส่วนรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ประธานสภาสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมายให้ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีสิทธิตั้งกระทู้ถามนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด 
นอกจากนี้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถเสนอข้อสอบถามต่อประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชี้แจงข้อเท็จจริงใด ๆ อันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของราชการส่วนภูมิภาค และให้หัวหน้าหน่วยราชการอื่น ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัดชี้แจงข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ได้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินกิจการใด ๆ ที่เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามมติของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ เมื่อเริ่มประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลือกผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามเกณฑ์ ดังนี้ 
1. ถ้ามีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  24  คนหรือ 30  คน ให้มีรองนายกองค์การ ฯ ได้ 2 คน 
2. ถ้ามีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  36  คนหรือ 42  คน ให้มีรองนายกองค์การ ฯ ได้ 3 คน 
3. ถ้ามีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด  48  คน ให้มีรองนายกองค์การ ฯ ได้ 4 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น